Q&A ไขข้อกังวลใจ เตรียมตัวอย่างไร? เมื่อต้องผ่าตัด
ด้วยวิธีการ “ดมยาสลบ”
คำว่า“ผ่าตัด” พูดเบาๆ ก็เจ็บ ! เมื่อพูดถึงเรื่องการผ่าตัดหลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกกลัว ยิ่งหากการผ่าตัดนั้นมีการดมยาสลบด้วยแล้ว แม้ว่าเราจะไม่เราจะรู้ว่าเราจะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัดก็จริง แต่เชื่อว่าหลายๆ คน ยังคงแอบกังวลใจอยู่ไม่น้อยว่าระหว่างผ่าตัดนั้นเราต้องเผชิญกับอะไร
- เราจะสลบนานแค่ไหน?
- ยาสลบใช้แล้วอันตรายไหม?
- ยาสลบใช้แล้วจะเกิดผลข้างเคียงไหม?
- ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนรับการผ่าตัด?
- หากตื่นมาระหว่างผ่าตัดจะรู้สึกอย่างไร?
- ขั้นตอนการเข้ารับการผ่าตัดเป็นอย่างไร?
วันนี้เราจะมาไขข้อกังวลใจ เพื่อให้ทุกท่านได้ เตรียมตัวเตรียมใจ ก่อนผ่าตัด ด้วยวิธีการ “ดมยาสลบ” กันค่ะ
Q: การดมยาสลบ คืออะไร? มีวิธีการอย่างไร?
A: การดมยาสลบคือ การระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ จะทำให้คนไข้หมดสติชั่วคราวโดยการที่คุณหมอวิสัญญีแพทย์ ให้ยาคนไข้และคนไข้จะหลับไประหว่างการทำผ่าตัด ซึ่งคนไข้จะไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกเจ็บ และคนไข้เองสามารถอยู่นิ่งได้นานโดยรู้สึกสบาย ไม่ต้องรู้สึกปวดเมื่อย ขณะผ่าตัด คุณหมอก็จะทำการผ่าตัดได้อย่างสะดวกและทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น
Q: ระหว่างที่เราสลบจะรู้สึกเจ็บไหม ?
A: การดมยาสลบนั้นมีการให้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาที่ทำให้หลับยาแก้ปวด ซึ่งระหว่างการทำผ่าตัดคนไข้จะรู้สึกเหมือนหลับปกติ ไม่รู้สึกเจ็บ ในขั้นตอนนี้จะมีทีมวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด

Q: ทำความรู้จักกับวิสัญญีแพทย์ คือใคร?
A: ทีมวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ดูแลตั้งแต่ก่อนเริ่มการผ่าตัดตลอดจนถึงหลังการผ่าตัดเมื่อเราได้รับการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยวิสัญญีแพทย์จะตามดูอาการที่ห้องพักฟื้น จนเราเริ่มรู้สึกตัว
Q: การบริการด้านวิสัญญี มีอะไรบ้าง?
A:
- การระงับความรู้สึกทั่วร่างกายโดยการดมยาสลบ
- การระงับความรู้สึกเฉพาะบางส่วน เช่น การฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง หรือการบล็อกหลัง และการฉีดยาชาเฉพาะที่ ร่วมกับการเฝ้าระวังโดยวิสัญญีแพทย์
ทีมวิสัญญีแพทย์ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการผ่าตัดทุกรูปแบบ ดังนั้นการเลือกหรือตัดสินใจที่จะผ่าตัด จึงควรที่จะคำนึงถึงว่า สถานที่นั้นๆ มีการดูแลโดยคุณหมอวิสัญญีแพทย์โดยตรงหรือไม่
Q: การดมยาสลบในปัจจุบัน เทคโนโลยีเป็นอย่างไร?
A: สำหรับในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ทางการแพทย์ได้ก้าวหน้ามากขึ้น วิธีการดมยาสลบเองก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการดมยาสลบ ให้มีความเสี่ยงน้อยและมีความปลอดภัยที่มากขึ้นจากอดีต อุปกรณ์การช่วยใส่ท่อเครื่องหายใจมีความก้าวหน้ามาก ทำให้สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้อย่างปลอดภัย
ส่วนยาสลบก็มีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว หมดออกฤทธิ์เร็ว และที่สำคัญคือเรื่องมีผลข้างเคียงน้อย จะช่วยให้คนไข้รู้สึกสบายฟื้นตัวได้เร็ว กลับบ้านได้เร็ว ไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน

Q: ก่อนผ่าตัด เตรียมตัวอย่างไร?
A:
- วิสัญญีแพทย์จะมาพบพูดคุยก่อนการผ่าตัด เพื่อซักถามประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว การผ่าตัดที่เคยได้รับ หากเป็นไปได้ ให้แจ้งชื่อยาที่ใช้ประจำและยาที่เรามีประวัติแพ้ แก่วิสัญญีทุกครั้ง หากท่านดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ ควรเว้นไปก่อน
- ก่อนวันนัดเข้ามาผ่าตัด ทางวิสัญญีแพทย์จะแจ้งให้คนไข้ งดน้ำและอาหาร ก่อนการผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักเข้าทางเดินหายใจ หากเรามียาที่ต้องทานประจำ ควรแจ้งคุณหมอก่อนเพื่อให้คุณหมอพิจารณา และแจ้งให้ทราบว่า มียาชนิดใดบ้างที่ไม่จำเป็นต้องงด
- การดมยาสลบ แพทย์จำเป็นที่จะต้องให้น้ำเกลือเพื่อที่จะทดแทนน้ำที่สูญเสียไป ทั้งก่อนและระหว่างการทำผ่าตัด นอกจากนี้สายน้ำเกลือก็เป็นช่องทางสำหรับการให้ยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาระงับความรู้สึกยาแก้ปวดหรือ ยาคล้ายกล้ามเนื้อ และคุณหมอยังสามารถให้ยาอื่นเพิ่มเติม เพื่อที่จะควบคุมความดันโลหิตคนไข้เพื่อทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
Q: ระหว่างผ่าตัด เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
A: หลายๆ คน คงจะแอบกังวลอยู่ไม่น้อย ว่าระหว่างผ่าตัดคุณหมอเค้าทำอะไรบ้าง แล้วเราจะรู้สึกเจ็บไหม ในขณะที่มีการผ่าตัด หมดกังวลไปได้เลยค่ะ ตลอดการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์และพยาบาลจะอยู่กับท่านตลอดเวลา เพื่อให้ท่านยังคงไม่รู้สึกตัวและไม่เจ็บปวด รวมถึงเฝ้าระวังสัญญาณชีพต่างๆ ให้ปกติ จนเสร็จสิ้นการผ่าตัด
Q: ใช้เวลาผ่าตัดนานไหม หากตื่นมาระหว่างผ่าตัดจะรู้สึกอย่างไร?
A: การผ่าตัดนั้น จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการผ่าตัดแต่ละชนิด เมื่อการผ่าตัดเสร็จ ระยะของการดมยาสลบก็จะเสร็จสิ้นตาม ทางทีมวิสัญญีแพทย์จะประเมินระยะเวลา การผ่าตัด ควบคู่กับการวางยาสลบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้สึกตัวขณะผ่าตัดแน่นอนค่ะ หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้วจะยังไม่กลับห้องพักในทันที จะมีการสังเกตอาการก่อน และรอให้คนไข้เริ่มรู้สึกตัว หลังจากนั้นจะเฝ้าระวังอาการต่อที่ห้องพักฟื้นอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ยาสลบหมดฤทธิ์โดยสมบูรณ์
Q: จะมีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้นหรือไม่?
A: ทุกการผ่าตัด ไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ อาจจะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง แต่มักจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยและเป็นแค่ชั่วคราว สามารถแก้ไขหรือรักษาได้ตามอาการเช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ หนาวสั่น ง่วงนอน เป็นต้น
Q: เมื่อกลับถึงบ้าน ต้องเฝ้าระวังอาการอะไรต่อหรือไม่?
A: หากท่านไม่จำเป็นต้องนอนรักษาต่อที่โรงพยาบาล เมื่อกลับถึงบ้านท่านอาจจะมีอาการเล็กๆ น้อยๆ เช่น เจ็บคอ เวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้จะหายได้เองประมาณ 1 วัน หลังการดมยาสลบ
